นำพล มลิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. เอสซีจี เดคคอร์ (SCGD) เปิดเผยว่า SCGD มีความมั่นใจและมีความพร้อมเต็มที่ในการขยายธุรกิจเชิงรุกสู่ภูมิภาคอาเซียนซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพเติบโตต่อเนื่องและมีมูลค่าตลาดรวมวัสดุตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์สูงถึงประมาณ 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 180,000 ล้านบาท โดยมีแผนที่จะเติบโตจากการขยายธุรกิจจากประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะธุรกิจสุขภัณฑ์ซึ่งบริษัทมียอดขายสุขภัณฑ์อันดับ 1 ในไทยและเป็นสินค้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ดี รวมถึงต่อยอดความแข็งแกร่งของธุรกิจตกแต่งพื้นผิวด้วยการขยายตลาดกระเบื้องไวนิล SPC และ LVT ซึ่งเป็นสินค้าทางเลือกใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
บริษัทฯ ได้ลงทุนสายการผลิตกระเบื้องไวนิล Stone Plastic Composite (SPC) มีกำลังการผลิต 1.8 ล้านตารางเมตรต่อปี ที่โรงงานหินกอง สระบุรี ใช้งบลงทุน 138 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2567 เพื่อเตรียมขยายตลาดทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน พร้อมทั้งเตรียมลงทุนขยายกำลังการผลิตกระเบื้องพอร์ซเลนรวม 6.6 ล้านตารางเมตรต่อปีในพื้นที่ภาคเหนือของเวียดนาม โดยเป็นกำลังการผลิตใหม่ 1.65 ล้านตารางเมตรต่อปี และทดแทนกำลังการผลิตเดิมอีก 4.95 ล้านตารางเมตรต่อปี
คาดว่าจะแล้วเสร็จต้นปี 2568
ส่วนไตรมาส 3 ปี 2566 บริษัทฯ ได้เริ่มเดินเครื่องจักรสายการผลิตใหม่ที่โรงงาน Dai Loc ในเวียดนาม มีกำลังการผลิตกระเบื้องเซมิ-เกลซ พอร์ซเลน (Semi- Glazed Porcelain) และกระเบื้องขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น 1.38 ล้านตารางเมตรต่อปี
นอกจากนี้ยังเตรียมแผนลงทุนโรงงานในพื้นที่ภาคใต้ของเวียดนามเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดอีกด้วย ส่วนในประเทศไทยได้เริ่มเดินเครื่องจักรสายการผลิตใหม่ที่โรงงานหนองแค สระบุรี เพื่อผลิตกระเบื้องขนาด 60×60 เซนติเมตร มีกำลังการผลิต 4.32 ล้านตารางเมตรต่อปี คาดว่าจะเพิ่มยอดขายได้มากขึ้นเนื่องจากเป็นขนาดที่นิยมในตลาด
ส่วนกลยุทธ์หลักที่สำคัญ
- ขยายผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่องให้ครอบคลุมการตกแต่งยิ่งขึ้น ตอกย้ำความเป็นผู้นำในการให้บริการแบบครบวงจรในธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์
- บริหารการผลิตและการจัดหาสินค้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยผสานความร่วมมือกับโรงงานแต่ละประเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริหารต้นทุน
- มุ่งสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์รักษ์โลกและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไตรมาสที่ผ่านมา ได้เริ่มโครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และโครงการใช้ชีวมวลผลิตลมร้อนในกระบวนการผลิตผงดิน ซึ่งช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานลงได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
ปัจจุบัน SCGD เป็นผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน โดยมียอดขายกระเบื้องเซรามิกอันดับ 1 ในไทย เวียดนามและฟิลิปปินส์ รวมถึงมียอดขายสุขภัณฑ์อันดับ 1 ในไทย และมีแบรนด์สินค้าเป็นที่ยอมรับในภูมิภาค โดยมีธุรกิจหลัก ได้แก่
- ธุรกิจตกแต่งพื้นผิว (Decor Surfaces) ประกอบด้วย กระเบื้องปูพื้น บุผนัง กระเบื้องไวนิลSPC และกระเบื้องไวนิล LVT (Luxury Vinyl Tile) รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น กาวซีเมนต์ กาวยาแนว เป็นต้น
- ธุรกิจสุขภัณฑ์ ได้แก่ สุขภัณฑ์ ก๊อกน้ำ และอุปกรณ์ห้องน้ำ โดยมีฐานการผลิตในประเทศ ไทย เวียดนามและฟิลิปปินส์ และช่องทางจัดจำหน่ายหลากหลายรูปแบบและครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาค รวมถึงส่งออกสินค้ากว่า 57 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา, เยเมน ไต้หวัน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, กัมพูชา เป็นต้น
นายสมิทธิ โกสีย์เจริญ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บมจ. เอสซีจี เดคคอร์ (SCGD) กล่าวถึงภาพรวมผลการดำเนินงาน
- 2563 รายได้จากการขาย 24,378.6 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,235.9 ล้านบาท
- 2564 รายได้จากการขาย 25,937.4 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,401.9 ล้านบาท
- 2565 รายได้จากการขาย 30,253.8 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,320.1 ล้านบาท
- 2566 (9 เดือนแรก) รายได้จากการขาย 21,522 ล้านบาท กำไรสุทธิ 760 ล้านบาท
นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก SCGD กล่าวว่า ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นมา SCGD ได้เริ่มทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ COTTO ที่ราคา 2.40 บาทต่อหุ้น พร้อมกับชำระค่าตอบแทนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ SCGD โดยที่ช่วงราคาเสนอขาย IPO สุดท้าย ที่ 11.20 – 11.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นช่วงอัตราแลกหุ้นสุดท้ายที่ 4.6667 – 4.7917 หุ้น COTTO ต่อ 1 หุ้น SCGD (กรณีที่มีเศษจะปัดลงทั้งหมด) โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 6 ธันวาคม 2566
SCGD จะเปิดให้ผู้ถือหุ้นของเอสซีจี และผู้ถือหุ้นของบริษัทเอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO ที่ได้รับสิทธิ เริ่มทำการจองซื้อหุ้น IPO ของ SCGD ในวันที่ 29 พฤศจิกายน ถึง 6 ธันวาคม 2566 ที่ราคา 11.50 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขาย IPO สุดท้าย
จากนั้นในวันที่ 6 ธันวาคม 2566 จะมีการประกาศราคาเสนอขายสุดท้าย ให้ประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นนักลงทุนรายย่อยสามารถจองซื้อได้ในวันที่ 8 ธันวาคม และ 12 – 13 ธันวาคม 2566