Home » เคล็บลับ ‘บ้านดีสำหรับผู้สูงวัย เพิ่มสุขสร้างสุขภาพดี’

เคล็บลับ ‘บ้านดีสำหรับผู้สูงวัย เพิ่มสุขสร้างสุขภาพดี’

เพราะบ้านคือสถานที่หลักที่เราเลือกใช้ชีวิตอยู่ โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องอยู่บ้านทั้งวัน บ้านคือพื้นที่แห่งความสบายใจ ความสุข และที่สำคัญคือ ต้องส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับชีวิต เพื่อให้ใช้ชีวิตทุกวันอย่างแข็งแรงทั้งกายใจมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

การใส่ใจเรื่องบ้าน โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ จึงเป็นเรื่องสำคัญและสะท้อนถึงการคำนึงถึงสุขภาพที่ดีด้วย เราจึงอยากชวนทุกคนกลับบ้านมาสำรวจพื้นที่กันแบบละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น ตั้งแต่เรื่องการเลือกวัสดุในบ้านเพื่อความปลอดภัย ไปจนถึงการสร้างสุขลักษณะที่ดีของการอยู่อาศัยให้ดีสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อเพิ่มสุข เพิ่มความสบายใจ ปลอดภัยกันทั้งครอบครัว

โดยเคล็ดลับนี้จาก 2 กูรู เคล็ดลับบ้านปลอดภัย โดยคุณวิทนีย์ ศรีพินิจ Living Experience Designer จาก SCG HOME Experience และเคล็ดลับสุขภาพดี โดย กภ.เสาวลักษณ์ สุทธินพสกุล นักกายภาพบำบัด จากโรงพยาบาลเอกชัย

1 เข้าใจผู้สูงวัย 3 ระดับ

สำหรับบ้านที่มีผู้สูงวัยเป็นบุคคลสำคัญของบ้าน ข้อสำคัญคือ การทำความเข้าใจกับสภาวะที่ผู้สูงวัยเป็นอยู่ เพื่อให้สามารถจัดการกับข้าวของหรือพื้นที่ภายในบ้านได้อย่างเหมาะสมกับกิจกรรมและสภาพร่างกาย  รวมทั้งปรับปรุงบ้าน เพื่อรองรับการใช้งานของผู้สูงวัยแต่ละช่วงอายุ

ผู้สูงวัยกลุ่มสีเขียว คือกลุ่มที่สุขภาพแข็งแรง สามารถใช้ชีวิตทั้งภายในและภายนอกบ้านได้ตามปกติ แม้จะมีสุขภาพแข็งแรง สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ แต่การเตรียมพร้อมพื้นที่ภายในบ้าน ก็เป็นการช่วยลดอุบัติเหตุหรืออันตรายที่ไม่คาดฝันได้

เริ่มจากการเดิน การมีพื้นเรียบในระนาบเดียวกันเป็นการอำนวยความสะดวกให้การเคลื่อนที่ทำได้คล่องตัวมากขึ้น ทั้งกับพื้นภายในบ้านที่ควรปรับให้ไม่มีพื้นที่ต่างระดับหรือธรณีประตูโดยไม่จำเป็น อาจใช้การปรับจากเดิมที่เป็นสเต็ปเปลี่ยนเป็นทางลาด เพื่ออนาคตในการใช้งานรถวีลแชร์ รวมทั้งพื้นห้องน้ำที่เลือกใช้ผิวสัมผัสหยาบขึ้น โดยเลือกได้จากข้อมูลกระเบื้องที่มีค่า R11 กำกับ ซึ่งเป็นพื้นผิวของค่ากันลื่นสูง ซึ่งเหมาะสมสำหรับการใช้งานภายในพื้นห้องน้ำผู้สูงอายุ รวมทั้งบริเวณภายนอกอาคารก็ได้เช่นกัน

อีกส่วนที่สำคัญคือการจัดสรรพื้นที่ ภายในควรมีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว ที่ช่วยในเรื่องสุขภาพใจ รวมทั้งระบบการระบายอากาศและแสงสว่างที่เพียงพอ เพราะผู้สูงอายุมีความต้องการแสงสว่างมากเป็น 2-3 เท่าของคนทั่วไป ช่วยให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นเป็นไปด้วยดี ทำกิจกรรมได้อย่างสะดวกสบาย

ผู้สูงวัยกลุ่มสีเหลือง คือเริ่มมีการเสื่อมถอยของสุขภาพร่างกายบ้าง แต่ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองอยู่ได้ ควรมีการติดตั้งอุปกรณ์พิเศษเพื่อช่วยในการพยุงตัวขณะเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมต่างๆ อย่างการติดตั้งราวจับภายในห้องน้ำ หรือบริเวณที่ต้องมีการลุกนั่งเป็นประจำ โดยเลือกให้มีขนาดเหมาะสมตามมาตรฐาน จับกระชับถนัดมือ

เรื่องสายตาและการมองเห็นก็เป็นอีกเรื่องสำคัญ นอกจากแสงสว่างที่จะต้องให้มีปริมาณมากเพียงพออย่างข้อก่อนหน้าแล้ว สำหรับผู้สูงอายุกลุ่มสีเหลือง การใช้สีสันก็เป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้การจำแนกการมองเห็นทำได้ชัดเจนขึ้น เลือกใช้สีที่ตัดกันหรือแตกต่างกันระหว่างพื้น-ผนัง หรือกับบัวเชิงผนัง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุก็เป็นดีเทลที่ควรใส่ใจ

ผู้สูงวัยกลุ่มสีส้ม คือผู้สูงวัยที่ต้องการการช่วยเหลือเป็นพิเศษในบางกิจกรรม กลุ่มผู้สูงวัยที่ต้องการการช่วยเหลือเป็นพิเศษ หรือต้องใช้อุปกรณ์ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตอย่างรถวีลแชร์ การออกแบบพื้นที่จึงจำเป็นต้องคิดถึงการใช้งานรถวีลแชร์เป็นหลัก ทั้งความราบเรียบ พื้นลาดเอียง และแรงฝืดของพื้น

ที่สำคัญสำหรับผู้สูงวัยกลุ่มนี้คือเรื่องระยะ ทั้งระยะของความกว้างที่เพียงพอสำหรับเข้าออก ความสูงของเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ภายในห้องน้ำ อย่างโถสุขภัณฑ์ อ่างล้างหน้า เคาน์เตอร์ ปลั๊กไฟและสวิตช์ไฟ จำเป็นต้องจัดการให้มีระยะที่วีลแชร์ต้องเข้าถึงง่าย และผู้สูงวัยใช้งานสะดวก รวมทั้งระดับหน้าต่างที่ของล่างควรสูงขึ้นจากพื้น 50 เซนติเมตร เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถทอดสายตาออกจากรถวีลแชร์หรือจากระยะการนั่งได้ ไปจนถึงอุปกรณ์ที่สามารถหยิบจับได้เองอย่างการเปิดปิดประตูหรือก๊อกน้ำ หากเป็นแบบก้านโยก ซึ่งอาจใช้อวัยวะอื่นอย่างแขนหรือไหล่ช่วยในการเอื้อมเปิด ก็จะยิ่งใช้งานได้ง่ายขึ้นอีก

2 ดีไซน์พื้นที่แบบคิดถึงทั้งผู้ใช้งานและผู้ดูแล

หลายเรื่องเป็นปัญหาคาดไม่ถึงที่อาจเกิดตามมาในอนาคตนอกเหนือจากการจัดการพื้นที่ภายในบ้านแล้ว อย่างเรื่องกลิ่นไม่พึงประสงค์จากสิ่งปฏิกูล กลิ่นตกค้างจากการระบายอากาศที่ทำได้ไม่ดี หรือผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องแผลกดทับซึ่งส่งผลในเรื่องกลิ่น นอกจากกับตัวผู้สูงอายุเองแล้ว ยังส่งผลต่อจิตใจถึงผู้ดูแลซึ่งต้องอยู่อาศัยร่วมกันตลอดเวลา

ทางที่ดีในการออกแบบพื้นที่จึงควรคำนึงถึงทั้งผู้อยู่อาศัยและผู้ดูแลให้สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้อย่างสบายใจ การออกแบบพื้นที่ใช้สอยจึงควรมีหน้าต่างที่สามารถระบายอากาศได้อย่างดี แต่หากเป็นพื้นที่จำกัดจริงๆ อาจใช้การติดตั้งพัดลมระบายอากาศ​ หรืออุปกรณ์ช่วยในการระบายซึ่งปัจจุบันมีนวัตกรรมให้เลือกสรรได้ตามความต้องการที่แตกต่าง

นอกจากนี้แสงสว่างภายในห้องนอน ก็มีคสามสำคัญเช่นกัน เพราะต้องใช้ห้องนอนในเวลากลางคืน การออกแบบแสงสว่างจึงมีผลโดยตรงกับเรื่องการมองเห็น เพื่อป้องกันอุบัติเหตุไปพร้อมกับการถนอมสายตาไปในตัว โดยแสงสว่างในตอนกลางคืนควรเป็นการให้แสงสว่างโดยอ้อม หรือ Indirect Light ไม่ควรใช้แสงสว่างจ้าส่องเข้าตาโดยตรง โดยช่วงแสงที่เหมาะสมจะอยู่ที่ไฟเดย์ไลท์ แบบคูลไวท์ ความสว่างอยู่ที่ 5,000K

3 นวัตกรรมเพื่อการช่วยเหลือและดูแลผู้ป่วย

นอกจากการจัดการพื้นที่แล้ว เฟอร์นิเจอร์หรืออุปกรณ์พิเศษสำหรับผู้สูงอายุก็เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยเติมคุณภาพชีวิต อำนวยความสะดวกในการผู้ดูแล และการแก้ปัญหาสุขภาพประจำวันทำได้สะดวกขึ้น

ยกตัวอย่างผู้ป่วยแผลกดทับที่จำเป็นต้องเปลี่ยนท่าการนอนทุก 2 ชั่วโมง หรือต้องมีอุปกรณ์ช่วยรองรับบริเวณปุ่มกระดูกที่โดนกดทับ ในปัจจุบันก็มีการออกแบบเตียงที่สามารถปรับระดับ ปรับท่าทางการนั่งและนอน หรือที่นอนลมซึ่งช่วยขยับร่างกายให้เคลื่อนไหวเพื่อป้องกันภาวะข้อติด ซึ่งมาพร้อมกับดีไซน์สวยงามที่ช่วยทั้งเรื่องความสบายตา สบายใจไม่ดูน่ากลัวเหมือนเตียงคนไข้ และสบายกายทั้งกับผู้สูงอายุและคนดูแล

หากตรวจสอบพื้นที่บริเวณบ้าน แล้วพบปัญหา จุดที่ต้องการแก้ไข หรือต้องการรับคำปรึกษาเพิ่มเติมทุกเรื่องบ้าน สามารถเข้ามาปรึกษาได้ที่ SCG HOME Experience ในโครงการ Crystal Design Center เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ที่นี่มีผู้เชี่ยวชาญ ทีมช่าง พร้อมกับผู้ให้คำปรึกษาทุกงานเกี่ยวกับบ้าน มอบบริการแสนอุ่นใจทั้งสินค้าและบริการให้กับคนรักบ้านทุกคน หมดกังวลทุกเรื่องการทำบ้าน SCG HOME Experience  เปิดทำการทุกวัน เวลา 10.00 น.-19.00 น. โทร. 02-101-9922 Line Official : @scghomeexperience หรือต้องการปรึกษาเรื่องสุขภาพ สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์กายภาพบำบัด Physical Therapy Center โรงพยาบาลเอกชัย โดยทีมนักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญ พร้อมเครื่องมือช่วยการดูแลที่ทันสมัย คลอบคลุมทุกการรักษา เพื่อให้คุณได้ใช้ร่างกายได้อย่างมั่นใจ บำบัดทุกอาการปวดเมื่อย ปวดเรื้อรัง จากการใช้อวัยวะหนัก ผิดท่า ออฟฟิศซินโดรมฯลฯ เสริมสร้าง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ  ช่วยให้การเคลื่อนไหวคล่องตัว ฟื้นฟูร่างกายหลังการผ่าตัด หลังป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต โทร.034-417-999 ต่อ 424, 425 สายด่วน 1715